หากกล่าวว่า Nasdaq 100 คือดัชนีหุ้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก เชื่อว่าหลายคนจะต้องสงสัยและเกิดคำถามว่าคืออะไร โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ที่เริ่มสนใจศึกษาการลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้นเราจะค่อย ๆ ทำความรู้จักกับดัชนีหุ้นตัวนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ทุกคน เริ่มตั้งแต่ประวัติความเป็นมา ค่อย ๆ ไล่ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพชัดเจนจนเข้าใจได้ว่าทำไมดัชนีหุ้น Nasdaq 100 จึงได้รับความนิยมระดับโลก และคุณควรลงทุนกับหุ้นตัวนี้อย่างไรเพื่อสร้างกำไรให้กับตัวคุณเอง หากคุณพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในนักลงทุนกับหุ้นที่มีการเติบโตมากที่สุดแล้ว เรามาเริ่มทำความรู้จัก Nasdaq 100 กันเลย
Nasdaq 100 คือดัชนีหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งดัชนีหุ้นตัวนี้จะรวมหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่เฉพาะ 100 อันดับแรกในตลาด Nasdaq เอาไว้ โดยแต่ละบริษัทก็ล้วนมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น Apple, Amazon, Facebook, Google และ Microsoft เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Nasdaq 100 จึงเป็นดัชนีที่มีความร้อนแรงและมีความผันผวนสูง
เมื่อเราได้ทราบแล้วว่า Nasdaq 100 คืออะไร เราจะมาย้อนเวลากลับไปถึงประวัติของดัชนีหุ้นตัวนี้ โดยเริ่มต้นที่ตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ก่อน ทุกคนจึงจะเข้าใจว่า Nasdaq 100 เกิดขึ้นได้อย่างไรดังนี้
1. Nasdaq ก่อตั้งขึ้นในปี 1971
จากข้อมูลใน Wikipedia ตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์แห่งชาติ หรือ NASD ในปี 1971 มีชื่อตลาดหลักทรัพย์เต็ม ๆ ว่า National Association of Securities Dealers Automated Quotation และถึงแม้ว่า Nasdaq จะมีความใหญ่รองลงมาจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในสหรัฐอเมริกา แต่ Nasdaq คือตลาดแรกที่มีการซื้อขายกันด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
2. Nasdaq คือตลาดแห่งอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี และอนาคต
สาเหตุที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่อย่าง Microsoft, Dell และ Apple ไม่สามารถเข้าจดทะเบียนกับตลาดใหญ่อย่าง NYSE ได้ แม้จะมีตัวเลขการเจริญเติบโตเป็นที่น่าพอใจ เพราะบริษัทเหล่านี้มีเพียงเทคโนโลยีที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา จึงไม่มีสินทรัพย์อย่างอสังหาริมทรัพย์มากพอที่จะผ่านเกณฑ์ของ NYSE ดังนั้นบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จึงเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายกันในตลาด Nasdaq แทน
และแม้ในปัจจุบันที่บริษัทเหล่านี้ได้เติบโตและมีขนาดใหญ่มากเกินพอที่จะผ่านเกณฑ์ของตลาด NYSE ไปเยอะแล้ว แต่บริษัทเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ใน Nasdaq ต่อไป จึงเป็นที่มาว่า Nasdaq คือตลาดแห่งเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และอนาคต
3. กำเนิดและประวัติของ Nasdaq 100
ในวันที่ 31 มกราคม 1985 ตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ได้ก่อตั้งดัชนี Nasdaq 100 ขึ้น เพื่อรวบรวมเอา 100 อันดับหุ้นแรกใน Nasdaq ที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี โทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ดังรายชื่อบริษัทที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น จึงสังเกตได้ว่าจะไม่มีหุ้นของสถาบันการเงินอย่างธนาคารรวมอยู่ด้วย
* ที่มา yahoo finance
เริ่มต้นในช่วงปี 1995-1998 ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นการเก็งกำไรในหุ้นที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี โดยในช่วงนั้นราคาหุ้นผันผวนรุนแรง ในปี 1998 ดัชนี Nasdaq 100 อยู่ที่ระดับประมาณ 1,000 จุด และเพียงเวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น ราคาดัชนีพุ่งสูงขึ้นจนแตะ 4,816 จุด ในช่วงเดือนมีนาคมปี 2000 คิดเป็นเปอร์เซ็นต์การเติบโตประมาณ 380% จนกลายเป็นวิกฤตการณ์ฟองสบู่ แต่สุดท้ายผลการดำเนินงานบริษัทกลับไม่เป็นไปตามคาด เพราะแต่ละบริษัทไม่สามารถทำตัวเลขให้เติบโตตามแนวโน้มที่นักลงทุนได้คาดการณ์ไว้ ภายในเวลาเพียงสองปีต่อมาดัชนี Nasdaq 100 ก็ตกลงมาอย่างต่อเนื่องลงมาที่ 815 จุด ในช่วงเดือน ณ สิ้นกันยายนปี 2002 หลังจากเกิดวิกฤต Dot-Com
จากนั้นดัชนี Nasdaq 100 ก็ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นมาอย่างช้า ๆ จนสามารถฟื้นตัวได้โดยที่ระดับดัชนีขึ้นไปปิดที่ 2,213 จุด ณ สิ้นเดือนตุลาคมปี 2007 แต่แล้วก็มีวิกฤตการณ์ครั้งใหม่เข้ามาหยุดการเติบโตในปี 2008 นั่นคือวิกฤตทางการเงินโลก หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์” อันมีสาเหตุมาจากการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่นักลงทุนประมาทจนประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป ประกอบกับการดำเนินงานที่ค่อนข้างหละหลวมของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา จนเกิดเป็นปัญหาฟองสบู่จากหนี้ครัวเรือนและภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ดัชนี Nasdaq 100 ลดต่ำลงมาอยู่ที่ 1,064 จุดในเดือนมีนาคมปี 2009
หลังจากช่วงปี 2008-2009 ดัชนี Nasdaq 100 ได้มีการปรับฐานใหม่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงที่ทำให้ดัชนีค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จนมีบททดสอบใหม่เข้ามานั่นคือ สงครามการค้าระหว่างประเทศของจีนกับสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี 2018 ตามมาด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ช่วงต้นปี 2020 แต่บททดสอบเหล่านี้ก็ไม่สามารถต้านทานแนวโน้มช่วงขาขึ้นของดัชนี Nasdaq 100 ได้
จนในที่สุดช่วงกลางเดือนพฤษจิกายนปี 2021 ดัชนี Nasdaq 100 ได้ปรับตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 16,573 จุด ก่อนที่จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยปัจจุบันดัชนี Nasdaq 100 ในปิดที่ระดับ 12,030 จุด ณ สิ้นเดือนพฤษจิกายนปี 2022
โดยข้อมูลจาก Nasdaq ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2022 แสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนของดัชนี Nasdaq 100 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 15.9% ต่อปีโดยเฉลี่ย
*ข้อมูลจาก Nasdaq ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2022
องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ดัชนี Nasdaq 100 โด่งดังระดับโลก
ดัชนี Nasdaq 100 ประกอบไปด้วยบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภท ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่มีความน่าเชื่อถือและมีตัวเลขการเจริญเติบโตที่มีศักยภาพสูง โดยข้อมูลจาก Nasdaq ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2022 รายงาน สัดส่วนของดัชนี Nasdaq 100 แบ่งออกเป็นประเภทธุรกิจได้ดังต่อไปนี้
• บริษัทเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตประมาณ 55%
• บริษัทที่ให้บริการด้านสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer staple, consumer discretionary) ประมาณ 26%
• บริษัทที่ให้บริการด้านสาธารณสุข ประมาณ 6.5%
• บริษัทภาคอุตสาหกรรมประมาณ 5.8%
• บริษัทภาคการสื่อสารประมาณ 5%
*ข้อมูลจาก Nasdaq ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2022
จากองค์ประกอบทั้งหมดนี้ มีอยู่ 3 บริษัทที่ถือว่าเป็นหุ้นใหญ่ที่สุดของดัชนี Nasdaq 100 โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ถึง 30% ของดัชนีหุ้นทั้งหมด ได้แก่ บริษัท Apple (13.3%), Microsoft (10.4%) และ Amazon (6.9%)
*ข้อมูลจาก Nasdaq ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2022
ข้อมูลจาก Nasdaq รายงานหลักเกณฑ์ของดัชนี Nasdaq 100 ที่ใช้สำหรับคัดเลือกหลักทรัพย์ บริษัทจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนดังต่อไปนี้
• หลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์ได้แก่ใบรับฝากหุ้นที่ออกโดยสถาบันทางการเงินในสหรัฐอเมริกา (ADR), หุ้นสามัญและหุ้นติดตาม (Tracking Stock)
• จะต้องไม่ใช่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)
• ไม่ได้ทำธุรกิจด้านการเงิน
• บริษัทนั้น ๆ จะต้องมีการซื้อขายรายวัน ในปริมาณ 200,000 หุ้นเป็นอย่างต่ำ
• บริษัทจะต้องมีการถ่วงดุลและอัปเดตรายงาน ทั้งรายไตรมาสและรายปี
• จะต้องเป็นบริษัทที่ไม่อยู่ในการดำเนินคดีล้มละลาย
หากบริษัทใดที่ผ่านเกณฑ์ของดัชนี Nasdaq 100 แล้ว แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ครบทุกข้อ จะถือว่าขาดคุณสมบัติและจะถูกเพิกถอนรายชื่อ ไม่ได้อยู่ในดัชนี Nasdaq 100 อีกต่อไป และจะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของดัชนีใหม่เกิดขึ้นทันที
ดัชนีหุ้น Nasdaq 100 มีสุดยอดหุ้นมากกว่า 50 บริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ส่วนที่เหลือคือบริษัทที่ประกอบด้วยหลากหลายธุรกิจ หากมองภาพรวมง่าย ๆ ว่า เมื่อมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจเดียวกันมากกว่าครึ่งของบริษัททั้งหมด ความผันผวนของราคาดัชนีจึงมีความรุนแรงสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นดัชนี Nasdaq 100 จึงใช้วิธีการคำนวณแบบ Market Cap Weight เพื่อเป็นการถ่วงดุล ซึ่งสามารถอธิบายให้นักลงทุนมือใหม่เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าทำไมจึงต้องมีการถ่วงดุลวิธีนี้
เพราะ 100 บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในดัชนีหุ้น Nasdaq 100 ล้วนเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในระดับโลก บางบริษัทมีขนาดใหญ่กว่าบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจเดียวกัน ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทที่มีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลมาก ๆ ส่งผลกระทบต่อราคาดัชนีโดยรวมมากไป จึงต้องใช้วิธีการให้แต่ละบริษัทใช้ค่าถ่วงน้ำหนักของมูลค่าหลักทรัพย์ ด้วยราคาตลาดเพื่อเป็นการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยการถ่วงดุลนี้ได้กำหนดอย่างเข้มงวดว่า จะต้องมีการปรับเป็นรายไตรมาส
นอกจากความเข้มงวดในการถ่วงดุลเป็นรายไตรมาสแล้ว Nasdaq 100 ยังกำหนดให้มีการปรับปรุงรายชื่อบริษัทประจำปีด้วย โดยข้อกำหนดที่ว่าคือ หากราคาหุ้นในวันซื้อขายสุดท้ายของเดือนตุลาคม กับจำนวนหุ้นทั้งหมดในวันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ยังคงอยู่ใน 100 อันดับแรก บริษัทนั้น ๆ จะยังอยู่ในดัชนี Nasdaq 100 ต่อไป แต่ถ้าปรับปรุงรายชื่อแล้วบริษัทหลุดออกจาก 100 อันดับแรก แต่ไม่เกินอันดับที่ 125 บริษัทนั้น ๆ ก็จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในดัชนี Nasdaq 100 ได้ต่อ แต่มีข้อแม้ว่าบริษัทที่หลุดอันดับนั้น ๆ จะต้องเคยอยู่ใน 100 อันแรกในปีที่ผ่านมาเท่านั้น
จากข้อมูลในอดีตเราจะพบว่าผลตอบแทน 1 ปีของดัชนี Nasdaq100 มีความสัมพันธ์เชิงผกผันกับอัตราเงินเฟ้อ เมื่อใดที่อัตราเงินเฟ้อสูงอัตราผลตอบแทนของดัชนีจะลดลงทันที สาเหตุเนื่องมาจากการที่เงินเฟ้อสูงจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสะกัดเงินเฟ้อ และการที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจะส่งผลให้บริษัทมีรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นและผู้บริโภคอาจมีแรงจูงใจในการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการน้อยลงเพราะสามารถนำเงินไปฝากธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีในดัชนี Nasdaq 100 ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถนับได้ว่าเป็นสินค้าจำเป็นเท่าไรนัก รายจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นพร้อมกับยอดขายที่อาจลดลงจึงส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทโดยตรง และส่งผลกดดันต่อราคาหุ้นและการเคลื่อนไหวของดัชนีโดยรวม
* ที่มา yahoo finance
ในอนาคตถ้าเราอยากรู้ว่าดัชนี Nasdaq 100 จะปรับตัวขึ้นเมื่อไร เราก็สามารถคาดการ์ณได้จากอัตราเงินเฟ้อนี่เอง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อจะเป็นดัชนีชี้วัดหลักในการคาดการณ์ต่อไปว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงจนถึงอัตราเป้าหมายของเฟดจากสองปัจจัยคือ
1.ความพยายามของเฟดในการควบคุมเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องน่าจะเริ่มส่งผลต่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว
2. ฐานดัชนีค่าครองชีพที่สูงในปีก่อนหน้าจะทำให้เงินเฟ้อ (เปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพโดยรวม) ปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่มากนัก
ดังนั้นจึงมีโอกาสที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในดัชนี Nasdaq 100 จะค่อยๆ ทรงตัวได้หลังจากที่ปรับลดลงมาอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เป็นโอกาสที่จะค่อยๆ ทยอยสะสมหุ้นคุณภาพดีเข้าพอร์ต แต่การถือครองควรเป็นระยะยาวแบบ 1 ปี ขึ้นไป และคงไม่สามารถคาดหวังที่จะทำกำไรในระยะสั้นได้เพราะยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่แน่นอนอยู่ เมื่อไรก็ตามที่ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในดัชนีจะถูกเทขายทิ้งอีก
การลงุทนในดัชนี Nasdaq 100 เป็นการเปิดโอกาสให้เราสามารถลงทุนเป็นเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ทางอ้อม ทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนเฉพาะในประเทศไทยออกไปได้ ถ้าประเทศไทยมีปัญหาด้านการเมืองหุ้นไทยอาจปรับตัวลงในขณะที่ หุ้นในดัชนี Nasdaq 100 จะไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้หุ้นในดัชนี Nasdaq 100 ยังมีสภาพคล่องสูงเพราะเป็นที่นิยมในการซื้อขาย ทำให้รายจ่ายในการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นแต่ละตัวในดัชนีต่ำและทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากกว่าการลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อย
อย่างไรก็ดีนักลงทุนไม่สามารถลงทุนในดัชนี Nasdaq 100 ได้โดยตรงแต่สามารถลงทุนผ่านทาง 2 ช่องทางคือ กองทุนรวมและ Contract of Difference (CFD)
1. กองทุนรวม
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลายแห่งเปิดให้ลงทุนในกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นตาม Nasdaq 100 ตามละเอียดดังต่อไปนี้
ตัวแทนจำหน่าย | กองทุนรวม | รหัสกองทุน | เงินลงทุนขั้นต่ำ | ปันผล | ค่าธรรมเนียมการจัดการ | ระดับความเสี่ยง | ข้อมูลกองทุน |
BCAP Asset Management | กองทุนเปิดบีแคป หุ้นยูเอส เอ็นดี 100 | BCAP-USND100 | 500 | ไม่จ่าย | ไม่เกิน 1.605% (เก็บจริง0.321%) | 6 | |
บลจ กสิกรไทย | กองทุนเปิดเค หุ้นยูเอส ดัชนีเอ็นดีคิว 100-A ชนิดสะสมมูลค่า | K-USXNDQ-A(A) | 500 | ไม่จ่าย | ไม่เกิน 3.2100% ต่อปี | 6 | |
บลจ กสิกรไทย | กองทุนเปิดเค หุ้นยูเอส ดัชนีเอ็นดีคิว 100-A ชนิดจ่ายเงินปันผล | K-USXNDQ-A(D) | 500 | จ่าย | ไม่เกิน 3.2100% ต่อปี | 6 |
2. Contract of Difference (CFD)
Contract of Difference หรือสัญญาส่วนต่างเป็นตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่เราสามารถทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ดัชนี และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆโดยที่ตัวเราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ดังกล่าวโดยตรง เพียงแค่เราถือสัญญาไว้ เราก็สามารถทำกำไรได้ด้วยการวางหลักประกันเพียงแค่บางส่วน ยกตัวอย่างเช่นในกรณีนี้ เราไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนสูงขนาดที่จะสามารถซื้อหุ้น 100 ตัวในดัชนี Nasdaq 100 แต่ถ้าเราคาดว่าระดับดัชนีจะเพิ่มขึ้นให้เราซื้อ CFD ไว้ถ้าดัชนีปรับตัวสูงขึ้นเราจะสามารถทำกำไรโดยการขายและได้รับกำไรส่วนต่างเป็นเงินสดเข้าบัญชี แต่ถ้าราคาลดลงเราจะขาดทุนและต้องจ่ายค่าส่วนต่างเฉพาะที่ขาดทุน ซึ่งโดยรวมแล้วการซื้อขาย CFD เป็นการลงทุนที่ใช้เงินทุนต่ำ แต่ก็มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการวางเงินประกันที่น้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนจริง เช่น 1 ต่อ 500 ซึ่งหมายความว่า มีเงินวางประกันไว้ 100 บาท จะสามารถเก็งกำไรดัชนีมูลค่า 50,000 บาทได้ หากมูลค่าดัชนีผันผวนเพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลให้เงินประกันที่วางไว้หมด จนถูกบังคับปิดสัญญาอย่างรวดเร็วหรือขายขาดทุนค่อนข้างมาก ซึ่งจะต่างจากการถือครองกองทุนรวม ที่เรามีส่วนเป็นเจ้าของหุ้นโดยตรง การลงทุน CFD นั้นสามารถทำผ่านโบรกเกอร์ต่าง ๆ เช่น Mitrade เป็นต้น
เชื่อว่าหลายคนจะต้องคุ้นเคย หรือไม่ก็ต้องเคยได้ยินชื่อดัชนี Nasdaq Composite กันมาบ้าง แต่ทราบหรือไม่ว่า ดัชนีตัวนี้แตกต่างจากดัชนี Nasdaq 100 ยังไง และหากคุณกำลังสับสนระหว่างดัชนี 2 ตัวนี้ เรามีหลักจำและวิธีการสังเกตความแตกต่างง่าย ๆ มาฝากคือ
ดัชนี Nasdaq Composite คือดัชนีที่รวมหุ้นของบริษัททั้งในสหรัฐอเมริกาและในต่างประเทศเอาไว้มากกว่า 3,000 บริษัท โดยบริษัททั้งหมดจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq แต่สำหรับ Nasdaq 100 จะเป็นดัชนีที่รวมหุ้นกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 100 อันแรกในตลาด Nasdaq ซึ่งไม่รวมบริษัททางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารสำหรับการลงทุน หรือธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นหากพูดถึงความผันผวนแล้วดัชนี Nasdaq 100 จะเกิดความผันผวนรุนแรงมากกว่าดัชนี Nasdaq Composite เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดคงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ดัชนี Nasdaq 100 เป็นดัชนีที่ควรลงทุน ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ง่าย ๆ ว่า เป็นดัชนีที่รวมหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเอาไว้ถึง 100 บริษัท และชื่อเสียงของแต่ละบริษัทก็เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดี อีกทั้งยังมีความน่าเชื่อถือและความมั่นคง แต่นักลงทุนควรตระหนักเสมอว่า การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงดังนั้นอย่าลืมศึกษาวิธีการลงทุนให้ละเอียดและรอบคอบก่อนการลงทุนทุกครั้ง
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยง: การซื้อขายอาจทำให้คุณสูญเสียเงินทุนทั้งหมด การซื้อขายอนุพันธ์แบบ OTC อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน โปรดพิจารณาเอกสาร PDS, FSG, คำชี้แจงการเปิดเผยความเสี่ยงและข้อตกลงลูกค้าก่อนใช้บริการของเรา และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โปรดทราบว่าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ในสินทรัพย์อ้างอิง