ดัชนี Nikkei 225 เป็นหนึ่งในดัชนีที่สำคัญที่สุดในโลกโดยที่นักลงทุนสามารถใช้ดัชนี Nikkei 225 เป็นตัวชี้วัดสภาวะตลาดหุ้นของญี่ปุ่นโดยรวม ดัชนี Nikkei 225 นั้นประกอบไปด้วยหุ้นของ 225 บริษัทชั้นนำในญี่ปุ่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo Stock Exchange เช่น Hitachi, Fujitsu, Panasonic, Sharp, Toyota ถ้าจะเทียบกันแล้วก็จะคล้ายกับดัชนี SET50 ของบ้านเราที่ประกอบไปด้วย 50 หุ้นชั้นนำอย่าง KBANK, PTT , CPF เป็นต้น
โดยดัชนี Nikkei 225 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เดือนกันยายน 2493 หรือ 72 ปีก่อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นดัชนีหุ้นที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย โดยที่ดัชนีมีการคำนวนย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 16 เดือนพฤษภาคม 2492 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นเปิดทำการอีกครั้งหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในตอนแรกนั้นตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเป็นผู้จัดทำและคำนวนดัชนีก่อนแล้วจึงค่อยส่งมอบต่อให้หนังสือพิมพ์ Nihon Keizai Shimbun (The Nikkei) รับช่วงคำนวนและรายงานต่อเป็นประจำทุกวันตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา
จากข้อมูลดัชนีรายเดือนพบว่า ดัชนีได้เคยขึ้นไปถึงจุดสูงสุด ที่ระดับ 38,916 ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2532 จากภาวะฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นและลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ระดับ 7,568 ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หลังจากเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ subprime crisis ในสหรัฐ โดยในปัจจุบัน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 ดัชนี Nikkei 225 อยู่ที่ระดับ 27,587 โดยได้ไต่ระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดถึง 264.5% ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ถึงดัชนีจะไต่ระดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่เคยกลับไปที่จุดสูงสุดได้เลย
จากข้อมูลใน Nikkei Stock Average Index Guidebook อัฟเดท ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2565 ดัชนี Nikkei 225 ถูกคำนวนจากราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้น 225 ตัวในดัชนีทุกๆ 5 วินาทีโดยที่
ราคาหุ้นที่ปรับแล้ว = ราคาหุ้น x ปัจจัยปรับราคา
มูลค่าดัชนี = ผลรวมของราคาหุ้นที่ปรับแล้ว / ตัวหาร
หุ้นที่จะถูกนำเข้าไปรวมในการคำนวนมูลค่าดัชนีนั้นจะถูกคัดเลือกผ่านสองวิธีด้วยกันคือ
1. การประเมินประจำปี (periodic review)
2. การเข้าไปแทนหุ้นที่ถูกคัดออก (extraordinary replacement)
สำหรับการทบทวนประจำปีนั้นจะมีจัดขึ้นปีละสองครั้งในช่วงเดือนมกราคมและกรกฏาคมและมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน
เมษายนและตุลาคมตามลำดับ โดยหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อยจะถูกคัดออกและหุ้นที่มีสภาพคล่องมากจะถูกนำเข้าไปรวมในดัชนี
แทน โดยสภาพคล่องนั้นสามารถวัดได้จากสองปัจจัยคือมูลค่าการซื้อขายหุ้นโดยรวมและความผันผวนของราคาหุ้น หุ้นที่มี
สภาพคล่องน้อยจะมีมูลค่าการซื้อขายน้อยและมีความผันผวนของราคาหุ้นสูงกว่าหุ้นที่มีสภาพคล่องมาก นอกจากสภาพ
คล่องแล้วการเลือกหุ้นเข้าดัชนีนั้นควรจะทำให้แต่ละอุตสาหกรรมมีจำนวนหุ้นที่สมดุลกันเพื่อให้ดัชนีนั้นสามารถใช้เป็น
ตัวแทนวัดสภาวะตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้อย่างใกล้เคียงที่สุด
สำหรับกรณีที่มีการเพิ่มหุ้นเข้าไปเพื่อแทนหุ้นที่ถูกคัดออกนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกรณีที่หุ้นเดิมในดัชนีถูกถอดถอนออกจาก
ตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะมาจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจเช่น การถูกควบรวมกิจการหรือหุ้นถูกย้ายไปจดทะเบียนที่ตลาด
อื่นเป็นต้น ขั้นตอนการคัดเลือกหุ้นใหม่เข้ามาแทนที่ก็จะคล้ายกับกรณีทบทวนประจำปีคือเลือกจากปริมาณสภาพคล่องและ
จะต้องมาจากอุตสหกรรมเดียวกันกับหุ้นเดิมที่ถูกนำออกเพื่อทำให้จำนวนหุ้นในแต่ละอุตสาหกรรมยังคงจำนวนเท่าเดิม
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Nikkei 225 Index Components - Nikkei Indexes แสดงให้เห็นว่าดัชนี Nikkei 225 นั้นประกอบไปด้วยหุ้นจาก 36 อุตสาหกรรมซึ่งถูกจัดรวมเป็น 6 หมวดหมู่ใหญ่ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี การเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน กลุ่มวัสดุและภาคการขนส่ง โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีนั้นจะมีน้ำหนักสัดส่วนมากที่สุดเกือบครึ่งหนึ่งของดัชนีตามมาด้วยหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและวัสดุ ในขณะที่หุ้นกลุ่มการเงินและการขนส่งสาธรณูปโภคมีสัดส่วนน้อยที่สุดเพียงแค่ 2% ของดัชนี
สัดส่วนและจำนวนหุ้นของแต่ละอุตสาหกรรมในดัชนี Nikkei 225
หมวดหมู่ | สัดส่วน | จำนวนหุ้น | อุตสาหกรรม |
เทคโนโลยี | 48.89% | 59 | เภสัชภัณฑ์, เครื่องจักรไฟฟ้า, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องมือวัดความแม่นยำ, การสื่อสาร |
สินค้าอุปโภคบริโภค | 23.85% | 33 | อาหาร, การประมง, ค้าปลีก, บริการ |
วัสดุ | 12.18% | 56 | เหมืองแร่, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, เคมีภัณฑ์, เยื่อกระดาษและกระดาษ, ปิโตรเลียม, ยาง, แก้วและเซรามิก, เหล็ก, โลหะภัณฑ์, บริษัทค้าปลีกค้าส่ง |
สินค้าทุนและอื่นๆ | 10.56% | 36 | การก่อสร้าง, เครื่องจักร, การต่อเรือ, การขนส่งอุปกรณ์, โรงงานภาคการผลิต, อสังหาริมทรัพย์ |
การเงิน | 2.39% | 21 | การธนาคาร, บริการทางการเงินอื่น ๆ, หลักทรัพย์, การประกัน |
ขนส่งและสาธารณูปโภค | 2.12% | 20 | รถไฟและรถขนส่งสาธารณะ, การขนส่งทางบก, การขนส่งทางน้ำ, การขนส่งทางอากาศ, คลังสินค้า, พลังงานไฟฟ้า, แก๊ส |
* ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565
จำนวนหุ้นแบ่งตามขนาดของบริษัทในดัชนี Nikkei 225
ขนาด* | จำนวนหุ้น |
หุ้นทั้งหมด | 225 |
หุ้นขนาดใหญ่ (market cap อันดับที่ 1-100) | 87 |
หุ้นขนาดกลาง (market cap อันดับที่ 100-500) | 121 |
หุ้นขนาดเล็ก (market cap อันดับที่ 500 ขึ้นไป) | 17 |
* นับจากอันดับ market cap ของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว
ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นในดัชนี Nikkei 225 โดยเฉลี่ย
ปันผล | PE ratio | PB ratio | ROE |
2.12% | 16.17 | 1.65 | 10.20% |
* ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565
ถึงแม้ว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะมีสัดส่วนมากที่สุด แต่หุ้นตัวที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในดัชนีกลับเป็นบริษัท Fast Retailing
Co.,Ltd. ซึ่งอยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าแบรนด์ Uniqlo นั่นเอง
10 อันดับหุ้นที่มีสัดส่วนมากที่สุดในดัชนี Nikkei 225 | |||
อันดับ | บริษัท | อุตสาหกรรม | สัดส่วน |
1 | Fast Retailing Co.Ltd. | สินค้าอุปโภคบริโภค | 10.30% |
2 | Tokyo Electron Ltd. | เทคโนโลยี | 4.90% |
3 | Softbank Group Corp. | เทคโนโลยี | 4.77% |
4 | KDDI Corp. | เทคโนโลยี | 3.27% |
5 | Daikin Industries, Ltd. | สินค้าทุน | 2.78% |
6 | Fanuc Corp. | เทคโนโลยี | 2.44% |
7 | Terumo Corp. | เทคโนโลยี | 2.25% |
8 | Advantest Corp. | เทคโนโลยี | 1.95% |
9 | Shin-Etsu Chemical Co.,Ltd. | วัสดุ | 1.93% |
10 | Kyocera Corp. | เทคโนโลยี | 1.85% |
* ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565
ดัชนี Nikkei 225 นั้นจะเคลื่อนไหวไปตามราคาของหุ้นแต่ละตัวที่ประกอบอยู่ในดัชนี ดังนั้นเราจะต้องดูว่าปัจจัยอะไรบ้างที่จะกระทบราคาหุ้นแต่ละตัว โดยปัจจัยหลักๆ ประกอบไปด้วย
1. เศรษฐกิจโลก
เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้นสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ข้อมูลจาก World Bank รายงานว่าญี่ปุ่นส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกามากเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยประเทศจีน ดังนั้นสภาวะเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาก
2. เศรษฐกิจญี่ปุ่น
เราจำเป็นต้องติดตามตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ถ้าเศรษฐกิจเติบโตได้ดี จะส่งผลให้บริษัทสามารถทำกำไรได้ดีขี้นและจะส่งผลบวกกับราคาหุ้นโดยตรง
3. นโยบายการเงิน
การที่ญี่ปุ่นใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายโดยกดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้กับบริษัทจดทะเบียนและเพิ่มระดับกำไรซึ่งจะเป็นผลดีต่อราคาหุ้น เราจำเป็นต้องจับตาทิศทางนโยบายทางการเงินว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตหรือหรือมีการขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่
4. นโยบายการคลัง
ซึ่งเราดูที่การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐและการเก็บภาษี การลงทุนภาครัฐที่มากและเก็บภาษีน้อยจะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจและการประกอบการของบริษัทในแง่บวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลบวกจากนโยบายต่างๆของภาครัฐ
5. สภาวะของแต่ละอุตสาหกรรม
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นโยบายภาครัฐ พฤติกรรมผู้บริโภค การแข่งขันในอุตสาหกรรม เป็นตัวอย่างของปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อแต่ละอุตสาหกรรมโดยตรงที่เราควรคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีซึ่งมีสัดส่วนเกือบครึ่งของดัชนีโดยรวม ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากถ้าระดับเงินเฟ้อสูงและมีการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
6. ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อราคาหุ้น ซึ่งเราควรดูผลประกอบการของ 225 บริษัทที่อยู่ในดัชนีเป็นหลัก
7. อัตราแลกเปลี่ยน
เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก ถ้าเงินเยนแข็งค่าจะทำให้สินค้าญี่ปุ่นดูแพงขึ้นในตลาดต่างประเทศ การขายสินค้าได้น้อยลงจะทำให้รายได้ของบริษัทจดทะเบียนลดลงและส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงตามไปด้วย ในทางกลับกันถ้าเงินเยนอ่อนค่าจะทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาถูกลงในตลาดต่างประเทศทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
8. ราคาน้ำมัน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันมากและการที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นย่อมส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและผลประกอบการบริษัทโดยตรง
1. เปิดโอกาศให้เราเราสามารถเป็นเจ้าของหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ของญี่ปุ่นได้ทางอ้อม
ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถเติบโตได้ดีในอนาคตและต้องการซื้อหุ้นญี่ปุ่นแต่ไม่ต้องการเสียเวลาบริหารพอร์ตเอง
เราสามารถลงทุนโดยตรงในดัชนี Nikkei 225
2. สภาพคล่องสูง
เนื่องจากหลักเกณฑ์การเลือกหุ้นเข้าสู่ดัชนี Nikkei 225 นั้นจะถูกเลือกจากหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง ดังนั้นจะทำให้รายจ่ายในการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นแต่ละตัวในดัชนีต่ำ โดยมี bid-ask spread แคบ price impact น้อยทำในการลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น (สำหรับกรณีการลงทุนในกองทุนรวม)
3. กระจายความเสี่ยง
เราสามารถกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนเฉพาะในตลาดประเทศไทยออกไปได้โดยการลงทุนในต่างประเทศ ถ้าประเทศไทยมีปัญหาด้านการเมือง ดัชนี SET50 อาจปรับตัวลงในขณะที่ ดัชนี Nikkei 225 จะไม่ได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ดีการลงทุนในดัชนี Nikkei 225 นั้นมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากถึงได้ว่าเป็นหนึ่งในดัชนีที่มีความผันผวนมากที่สุดในตลาดซึ่งอาจทำให้เราต้องติดตามตลอดถ้าต้องการเทรดระยะสั้น แต่ความผันผวนที่มากก็นำมาซึ่งความเป็นไปได้ในการทำกำไรที่มากขึ้นด้วย
นักลงทุนไม่สามารถลงทุนในดัชนี Nikkei 225 ได้โดยตรงแต่สามารถลงทุนผ่านทาง 2 ช่องทางคือ Exchange Traded Fund (ETF) และ Contract of Difference (CFD)
1. Exchange Traded Fund (ETF)
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลายแห่งเปิดให้ลงทุนในกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นตามดัชนี Nikkei 225 ตามละเอียดดังต่อไปนี้
ตัวแทนจำหน่าย | กองทุนรวม | รหัสกองทุน | มูลค่าสั่งซื้อขั้นต่ำ | มูลค่าขายคืนขั้นต่ำ | การจ่ายปันผล | ค่าธรรมเนียมการจัดการ | ระดับความเสี่ยง | ข้อมูลเพิ่มเติม |
บลจ กรุงไทย | กองทุนเปิดเคแทม เจแปน อิควิตี้ พาสซีฟ ฟันด์ (ชนิดสะสมมูลค่า) | KT-JPFUND-A | 1,000 บาท | ไม่มีกำหนด | ไม่มี | ไม่เกินร้อยละ 2.1400 (เก็บจริงร้อยละ 0.8025) | 6 | |
TMBAM Eastspring | ทหารไทย Japan Equity | TMPJE | 1 บาท | 1 บาท | ไม่มี | ไม่เกินร้อยละ 2.1400 | 6 | |
TMBAM Eastspring | ทหารไทย Japan Equity เพื่อการเลี้ยงชีพ | TMPJERMF | 1 บาท | 1 บาท | ไม่มี | ไม่เกินร้อยละ 2.1400 | 6 | |
บลจ ไทยพาณิชย์ | กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดไม่จ่ายเงินปันผล) | SCBNK225 | 1 บาท | 1 บาท | ไม่มี | ไม่เกินร้อยละ 2.565 (เก็บจริงร้อยละ 1.00473) | 6 | |
บลจ ไทยพาณิชย์ | กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดจ่ายเงินปันผล) | SCBNK225D | 1 บาท | 1 บาท | มี | ไม่เกินร้อยละ 2.565 (เก็บจริงร้อยละ 1.00473) | 6 | |
บลจ ไทยพาณิชย์ | กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่นเพื่อการเลี้ยงชีพ | SCBRMJP | 1,000 บาท | 1,000 บาท | ไม่มี | ไม่เกินร้อยละ 2.565 (เก็บจริงร้อยละ 0.749) | 6 | |
บลจ กรุงศรี | กรุงศรีเจแปนอิควิตี้อินเด็กซ์เฮดจ์เอฟเอ็กซ์-สะสมมูลค่า | KFJPINDX-A | 500 บาท | 500 บาท | ไม่มี | รายละเอียดตามหนังสือชี้ชวน | 6 |
* ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565
อย่างไรก็ดีการลงทุนใน Nikkei 225 Exchange Traded Fund มีความเสี่ยงที่ควรคำนึงถึงได้แก่ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกหลักทรัพย์ ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่กองทุนไม่สามารถลงทุนใน Nikkei 225 Exchange Traded Fund ได้อีกต่อไป ความเสี่ยงจากการเข้าทำธุรกรรมสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของเงินลงทุนต่างประเทศ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
2. Contract of Difference (CFD)
สัญญาส่วนต่างหรือ Contract of Difference เป็นตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่เราสามารถทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ดัชนี และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆโดยที่ตัวเราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าว เพียงแค่เราถือสัญญาไว้ เราก็สามารถทำกำไรได้ด้วยการวางหลักประกันเพียงแค่บางส่วน ยกตัวอย่างเช่นในกรณีนี้ เราไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนสูงขนาดที่จะสามารถซื้อหุ้น 225 ตัวในดัชนี Nikkei 225 ได้ แต่ถ้าเราคาดว่าระดับดัชนีจะเพิ่มขึ้นให้เราซื้อ CFD ไว้ถ้าดัชนีปรับตัวสูงขึ้นเราจะสามารถทำกำไรโดยการขายและได้รับกำไรส่วนต่างเป็นเงินสดเข้าบัญชี แต่ถ้าราคาลดลงเราจะขาดทุนและต้องจ่ายค่าส่วนต่างเฉพาะที่ขาดทุน ซึ่งโดยรวมแล้วการซื้อขาย CFD เป็นการลงทุนที่ใช้เงินทุนต่ำ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากการวางเงินประกันน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนจริง เช่น 1 ต่อ 100 ซึ่งหมายความว่า มีเงินวางประกันไว้ 100 บาท จะสามารถเก็งกำไรดัชนีมูลค่า 10,000 บาทได้ หากมูลค่าดัชนีผันผวนเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เงินประกันที่วางไว้หมด จนถูกบังคับปิดสัญญาอย่างรวดเร็วหรือขายขาดทุนค่อนข้างมาก ซึ่งจะต่างจากการถือครอง ETF ที่เรามีส่วนเป็นเจ้าของหุ้นโดยตรง การลงทุน CFD นั้นสามารถทำผ่านโบรกเกอร์ต่าง ๆ เช่น Mitrade เป็นต้น
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยง: การซื้อขายอาจทำให้คุณสูญเสียเงินทุนทั้งหมด การซื้อขายอนุพันธ์แบบ OTC อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน โปรดพิจารณาเอกสาร PDS, FSG, คำชี้แจงการเปิดเผยความเสี่ยงและข้อตกลงลูกค้าก่อนใช้บริการของเรา และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โปรดทราบว่าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ในสินทรัพย์อ้างอิง