การวิเคราะห์แนวโน้มค่าเงินดอลล่าร์ ค่าเงินดอลล่าร์จะขึ้นหรือไม่ในปี 2566

ค่าเงินดอลลาร์เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์แทบทุกชนิดในตลาดการลงทุน ไม่ว่าจะเทรดทองคำ น้ำมัน หรือค่าเงิน ไม่ว่าโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ก ึ่ง ๆ ว่านักลงทุนกำลังเทรดค่าเงินดอลลาร์ไปด้วยในตัวเพราะสินทรัพย์เหล่านี้สามารถซื้อขายได้ด้วยสกุลเงินดอลลาร์นั่นเอง
และคราวนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสกุลเงินหลักของโลกสกุลเงินนี้ว่าทำไมเงินดอลลาร์จึงสำคัญนัก และแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ในปี 2566 นี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ตามไปดูกันได้เลย!
ทำไมเงินดอลลาร์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก
จากยุคสงครามโลกเป็นต้นมา ไม่ว่าจะผ่านเหตุการณ์ Bretton Woods หรือวิกฤตซับไพรม์ สกุลเงินดอลลาร์ก็ยังเป็นสกุลเงินหลักที่ทรงอิทธิพลของโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเงินดอลลาร์จึงมีความสำคัญนักต่อเศรษฐกิจโลก
● เป็นสกุลเงินที่มีการเทรดสูงสุดในตลาดปริวรรตเงินตรา
จากรายงานเดือนเมษา 2022 ของ BIS พบว่าในปีดังกล่าวมีการเทรดเงินต่างประเทศแบบ OTC พุ่งแตะ $7.5 ล้านล้านต่อวัน และใน 88% ของการเทรดนั้นจะมีค่าเงินดอลลาร์เป็นข้างหนึ่งของการเทรดเสมอ จนเรียกได้ว่าเทรดเดอร์ใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักสำหรับการเทียบค่าสกุลเงินอื่น ๆ ของโลกก็ว่าได้
● เป็นหน่วยราคาซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์
ตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของโลกตั้งอยู่ที่ชิคาโก (Chicago Mercantile Exchange: CME), โตเกียว (Tokyo Commodity Exchange: TOCOM), และลอนดอน (London Metal Exchange: LME) ซึ่งทั้งสามตลาดใช้สกุลเงินดอลลาร์สำหรับการซื้อขาย การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์จึงมีผลต่อราคาอ้างอิงสินค้าโภคภัฑณ์ในตลาดโลกไปด้วยโดยปริยาย
● เป็นสกุลเงินหลักที่ใช้เป็นทุนสำรองของธนาคากลางของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ในปี 2022 จากรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศรายงานว่าปัจจุบันเงินดอลลาร์ยังเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารต่าง ๆ ถือไว้มากที่สุด คือราว 58.4% มากกว่าสกุลเงินลำดับสองที่เป็นยูโรที่ถืออยู่ราว 20.5% และเยน ปอนด์ หยวน ที่ถือเพียง 5.5%, 5% และ 2.7% ตามลำดับ
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าสกุลเงินดอลลาร์เป็นเหมือนฟันเฟืองที่ช่วยหล่อลื่นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนทั่วโลกอยู่ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มค่าเงินดอลล่าร์
ค่าเงินดอลลาร์ไม่ต่างจากราคาสินค้าอื่น ๆ คือถูกกำหนดด้วยความต้องการซื้อ (Demand) และความต้องการขาย (Supply) ที่มีต่อตัวสกุลเงินดอลลาร์เอง ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อทั้งสองส่วนนี้ที่จะส่งต่อไปยังการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์จึงได้แก่ 3 ปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้
● อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ
อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) คือผลตอบแทนของการถือสกุลเงินหนึ่ง ๆ โดยไร้ความเสี่ยงเป็นช่วงระยะเวลาตามกำหนด และอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น พันธบัตรสกุลเงินนั้น ๆ ก็จะอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยนี้อีกที ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศสามารถเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขและเป้าหมายทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของธนาคารกลางแต่ละประเทศ
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยคือผลตอบแทนของการถือสกุลเงิน ทำให้สกุลเงินใดที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงก็จะเป็นที่ต้องการของนักลงทุนมากกว่าสกุลเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐปรับเพิ่มขึ้น ความต้องการถือเงินดอลลาร์ก็จะเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
● บรรยากาศความเสี่ยงของเศรษฐกิจการเงินโลก
เงินดอลลาร์สหรัฐมีอีกฐานะหนึ่งคือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) สำหรับนักลงทุนแล้วเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นในโลกไม่ว่าจะเป็นจากการเกิดสงครามหรือวิกฤตเศรษฐกิจก็มักจะขายสินทรัพย์อื่นเพื่อเข้ามาถือเงินดอลลาร์หรือทองคำ เช่น ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดการเทขายในตลาดหุ้นทั่วโลก เพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์เช่น ทองคำ ดอลลาร์ และสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งปัจจัยด้านความเสี่ยงนี้เองที่ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐเป็นที่ต้องการมากขึ้น และความต้องการถือเงินดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นก็จะผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นนั่นเอง
● ปัจจัยทางมหภาค
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยของประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ เช่น ECB หรือ ญี่ปุ่น ที่หากประเทศเหล่านี้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับสกุลเงินสดอลลาร์สหรัฐน้อยลง และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง
นอกจากนี้ข้อมูลเช่นตัวเลขการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้น หรือการขยายปริมาณทางการเงิน (ทำ QE) ก็มีผลให้ปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบมีเพิ่มขึ้น และกดดันราคาสกุลเงินดอลลาร์ให้อ่อนตัวลงได้เช่นกัน
ภาพรวมค่าเงินดอลลาร์ที่ผ่านมา
Cr: Trading Economics
ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 1971 จากกราฟดัชนีดอลลาร์ 50 ปีย้อนหลัง ทศวรรษที่ 1970s เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของระบบ Bretton Woods ที่ผูกติดค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำทำให้สกุลเงินดอลลาร์ค่อย ๆ อ่อนค่าลง แต่กลับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศ และเกิดการก่อตั้งสถาบันอย่าง IMF และ World Bank ขึ้นมา
หลังจากนั้นเราจะพบว่าสกุลเงินดอลลาร์มีการพุ่งขึ้นแข็งค่าใน 3 รอบใหญ่ ๆ นั่นคือช่วง 1980s, 1995, และ 2011 จนถึงปัจจุบันที่เราจะมาพูดถึงการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ในแต่ละช่วงดังนี้
1. การปรับขึ้นรอบแรกเกิดขึ้นช่วงปี 1980s
เกิดขึ้นหลังจากการล่มสลายของระบบเบรตันวูดส์ในปี 1971 ซึ่งเดิมค่าเงินดอลลาร์ควรเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกับทองคำ เพราะเงินดอลลาร์มีทองคำหนุนหลังอยู่ตามข้อตกลงเบรตันวูดส์ แต่เมื่อสหรัฐได้ยกเลิกข้อตกลงนี้ไปแล้วขณะที่เงินดอลลาร์ยังคงมีบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์และทองคำเริ่มปรับไปในทิศทางตรงข้ามกัน นั่นคือหากดอลลาร์อ่อนค่า หมายความว่าต้องใช้ดอลลาร์มากขึ้นในการซื้อทองคำส่งผลให้ราคาทองคำปรับขึ้น, หรือหากดอลลาร์แข็งค่า ในทางตรงกันข้ามก็จะทำให้ราคาทองคำปรับลดลง
การล่มสลายของระบบเบรตันวูดส์ในปี 1971 ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ไม่ได้ผูกติดกับราคาทองคำอีกต่อไป ผนวกกับวิกฤตราคาน้ำมันส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 7.94% ในปี 1978 เป็น 16.39% ในปี 1981 หลังจากนั้นการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศก็เริ่มเติบโตสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้ดอลลาร์เริ่มปรับตัวขึ้นสูงสุดเกินกว่า 50% และทำจุดสูงสุดในรอบแรกราวปี 1985 ที่ 160
2. การปรับขึ้นรอบสองเกิดขึ้นช่วงปี 1994
การปรับขึ้นของค่าเงินดอลลาร์รอบสองเกิดขึ้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปี 1994 เหตุการณ์นี้มาพร้อมกับการก่อตัวของวิกฤตดอทคอมที่ราคาสินทรัพย์ในตลาดหุ้นเทคโนโลยีเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจนถึงปี 2000 วิกฤตดอทคอมในสหรัฐทำให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED เริ่มกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระบบอีกครั้ง พร้อมก ๆ กับการเกิดความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐและอิรัก ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ซึ่งมีฐานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยพุ่งทะยานขึ้นอีกครั้งไปจนถึงปลายปี 2000s ในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพร์ม
ในรอบนี้ดอลลาร์ได้ปรับตัวขึ้นสูงสุดในปี 2001 แตะระดับ 120
3. การปรับขึ้นรอบล่าสุดเกิดขึ้นช่วงปี 2011 ยาวมาจนถึงปัจจุบัน
การปรับตัวขึ้นของดอลลาร์รอบล่าสุดยังไม่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่แต่กินเวลายืดเยื้อยาวนานตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤตซับไพร์มที่ธนาคารกลางสหรัฐได้เริ่มใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) กดดันให้ดอลลาร์ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดที่ 71 ในปี 2008 ก่อนที่ความเข้มข้นของนโยบายจะเริ่มลดลง พร้อมกับที่ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปี 2015 ส่งผลให้ดอลลาร์พุ่งขึ้นมาแตะระดับ 103 ในปี 2016 และ 2017
แม้การกลับมาขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้จะถูกขัดขวางด้วยการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ในปี 2020 ต้องกลับไปลดอัตราดอกเบี้ยและกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอีกครั้ง แต่เมื่อเหตุการณ์ได้คลี่คลายลงในปลายปี 2021 ธนาคารกลางสหรัฐก็กลับมาส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งดอลลาร์ได้ปรับตัวขึ้นรับข่าวนี้ที่ระดับ 114.84 ในช่วงปลายปี 2022 ก่อนมีสัญญาณอ่อนตัวลงมาบ้างในปัจจุบัน
การวิเคราะห์แนวโน้มค่าเงินดอลล่าร์ ค่าเงินดอลล่าร์จะขึ้นหรือไม่ในปี 2566
สำหรับปี 2023 ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ถูกกำหนดด้วยหลายธีมตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐเอง ได้แก่
● แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ
มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 4.5 – 4.75% และนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ยังมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 4.75 - 5% ในเดือนมีนาคม 2023 นี้เลย ซึ่งการคาดการณ์นี้เป็นปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนทิศทางค่าเงินดอลลาร์ในปี 2023 นี้ แม้ปัจจัยนี้จะส่งผลบวกต่อการแข็งค่าของดอลลาร์ แต่นักวิเคราะห์จากทั้ง Goldman Sachs และ JP Morgan ต่างก็มองว่าตลาดได้ซึมซับปัจจัยนี้ไปมากแล้ว ทำให้โอกาสของการแข็งค่าด้วยปัจจัยนี้ยังมีอีกไม่มาก
● ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐ
หลังการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2021 ที่ 5.9% ตามมาด้วยการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อและดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐก่อให้เกิดภาพหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังช่วงโควิด ที่มาตรการตึงตัวทางการเงินจะทำให้เกิดการหดตัวของสินเชื่อและส่งผลไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงที่จะลดการลงทุนและการบริโภคลง จนเกิดความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยชะลอการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ลง
ในปี 2023 นี้สำนักงานเศรษฐกิจสหรัฐคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจที่ 4.5% ขณะที่ Deloitte มองว่าจะเติบโตได้เพียง 1.8% ฉุดรั้งโดยการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
● การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
หลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิดที่นำโดยสหรัฐที่นำมาตั้งแต่ปี 2021 สำหรับปี 2023 JP Morgan มองว่าการฟื้นตัวจะเริ่มกระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกโดยเฉพาะเอเชียจนกลายมาเป็นหนึ่งในธีมลงทุนของปี 2023 โดยมองการฟื้นตัวของหุ้นจีน และการกลับมาแข็งค่าของค่าเงินเยน (JPY) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันให้การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในปีนี้จะเป็นไปได้ไม่มากนัก
ด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้ Morgan Stanley ปรับลดคาดการณ์ดัชนีดอลลาร์ในปี 2023 จาก 104 ลงสู่ 98 ขณะที่ JP Morgan มองให้น้ำหนักกลาง ๆ สำหรับการลงทุนในค่าเงินดอลลาร์ และมีมุมมองบวกต่อการกระจายการลงทุนไปในภูมิภาคอื่นมากกว่า
● มุมมองค่าเงินดอลลาร์เทียบค่าเงินอื่น ๆ ในโลก
△ EUR/USD
แม้จะถูกกดดันด้วยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลต่อราคาพลังงาน แต่ในฤดูหนาวที่ผ่านมาปัญหาพลังงานไม่ได้ส่งผลต่อยุโรปเท่าที่คาดไว้ และสามารถหลีกเลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ JP Morgan จึงมีมุมมองบวกโดยปรับคาดการณ์ขึ้นจาก 0.95-1.00 EUR/USD เป็น 1.10 - 1.08 EUR/USD สำหรับปีนี้
△ GBP/USD
หลังการลดภาษีของรัฐบาล Truss ในปี 2022 ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษเทียบดอลลาร์ปรับตัวลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ 1.034 GBP/USD แม้หลังจากนั้นจะเริ่มฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษยังไม่เป็นรูปธรรมนัก และสำหรับปี 2023 นี้ JP Morgan มองว่าปอนด์จะยังทำผลงานได้ไม่ดีนักโดยคาดว่าปอนด์จะเริ่มอ่อนค่าลงอีกครั้งช่วงหลังของปี 2023 และปิดสิ้นปีที่ 1.15 GBP/USD
△ USD/JPY
ค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่าสุดในรอบ 32 ปีไปเมื่อช่วงตุลาคม 2022 ที่ผ่านมาจากการขาดดุลการค้าขนาดใหญ่และท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ ท่าทีที่ต้องจับตามองในปีนี้จึงเป็นนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป โดย JP Morgan มองระดับคู่เงินนี้สำหรับสิ้นปี 2023 สามารถแข็งค่าจากปัจจุบันได้อีกที่ 128 USD/JPY
● USD/THB
สำหรับค่าเงินบาท SCB CIO มองว่าด้วยการซึมซับข่าวการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐไปมากแล้ว และเศรษฐกิจไทยยังได้จะได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการเกินดุลการค้าที่ไทยจะกลับมาส่งออกได้ SCB CIO จึงมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไว้ที่ 33 – 34 บาท/ดอลลาร์ในปี 2023 นี้
ค่าเงินดอลลาร์เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยมองเห็นแต่เกี่ยวข้องกับราคาสินทรัพย์ การค้า และการลงทุนทั่วโลก แม้ปัจจุบันจะมีตัวเลือกทางการเงินที่หลากหลายขึ้น แต่ความสำคัญที่เป็นสกุลเงินหลักในการเทรดค่าเงิน เป็นสกุลเงินหลักของเงินสำรองธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้งใช้ในการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ก็ทำให้สกุลเงินดอลลาร์จะยังคงมีความสำคัญในการลงทุนอยู่ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนในตลาดโลกจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน