
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบัน DW คือตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักเทรดสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละวันตราสารชนิดนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวมกันกว่าหลายพันล้านบาท หรือเป็นมูลค่าที่เทียบเท่าการซื้อขายหุ้นใหญ่ห้าอันดับแรกของตลาดได้เลย
และด้วยความนิยมที่แพร่หลาย เราจึงขอชวนเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักตราสารชนิดนี้กันว่าตกลงแล้ว DW คืออะไร, DW เทรดยังไง, ไปจนถึงการพูดถึงโอกาสและความเสี่ยงที่มาพร้อมกับตราสารชนิดนี้ว่าจะเริ่มต้นเทรด DW ได้อย่างไร และมีอะไรให้ต้องระวังกันบ้าง
1. DW คืออะไร? ทำความรู้จักกับ DW
1.1 DW คืออะไร
DW หรือ Derivative Warrant คือตราสารให้สิทธิในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิง ตามราคาและอัตราใช้สิทธิที่กำหนดไว้ เมื่อถึงวันใช้สิทธิที่กำหนด ซึ่งหากนักลงทุนซื้อ DW และถือไปจนถึงวันหมดอายุก็จะได้ผลกำไรหรือขาดทุนจากส่วนต่างของราคา ณ วันใช้สิทธิ แต่วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมนักเนื่องจากใช้เวลานาน และต้องเสียมูลค่าตามเวลาหรือ Time Decay ไป
วิธีที่ได้รับความนิยมสูงสำหรับการซื้อขาย DW จึงกลายเป็นการเก็งกำไร หรือ เล่นสั้น โดยเฉพาะการเล่นสั้นในวัน (Day Trading) เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคา DW จะเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับราคาของสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรงแบบไม่มีการคิดลดจากค่าเสื่อมเวลา เมื่อบวกกับการนำอัตราทดมาใช้และมีการซื้อขายได้ง่ายในกระดานหุ้น ก็เป็นปัจจัยที่เหมาะสมที่ทำให้นักลงทุนสามารถเก็งกำไรจากราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ด้วยเงินลงทุนไม่มาก และคาดหวังผลกำไรที่สูงได้
1.2 ประเภทของ DW
DW แบ่งตามลักษณะการใช้สิทธิได้ 2 ประเภท คือ
● Call DW
Call DW เป็น DW ที่ราคาเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกันกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งหากราคาสินทรัพย์อ้างอิงปรับตัวขึ้น Call DW ก็จะปรับตัวขึ้นตามไปด้วย ทำให้ตราสารตัวนี้สร้างกำไรได้ในทิศทางราคาขาขึ้น
● Put DW
Put DW เป็น DW ที่ราคาเปลี่ยนแปลงในทางตรงกันข้ามกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งหากราคาสินทรัพย์อ้างอิงปรับตัวขึ้น Put DW ก็จะปรับตัวลง แต่หากราคาสินทรัพย์อ้างอิงปรับตัวลง Put DW ก็จะปรับตัวขึ้นสวนทางกัน ทำให้ตราสารตัวนี้สามารถทำกำไรได้ในทิศทางราคาขาลง
นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่ง DW จากสินค้าอ้างอิงได้เป็นอีก 3 ประเภท ได้แก่
● DW ที่อ้างอิงราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย DW ประเภทนี้จะอ้างอิงราคาหุ้นได้เฉพาะในกลุ่ม SET50 หรือ SET100 เท่านั้น
● DW ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นไทย นิยมอ้างอิงบน SET50
● DW ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นต่างประเทศ ปัจจุบันบางโบรกเกอร์ยังเปิดให้นักเทรดซื้อขาย DW ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้นต่างประเทศ ที่เปิดให้เทรดได้แล้วจะมี DW ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นดาวโจนส์ สหรัฐ (DJI) และดัชนีฮั่งเส็ง ฮ่องกง (HSI)
1.3 มีวิธีดูรหัส DW ยังไง
เวลาเราเห็นรหัส DW มักจะมีการเรียงเป็นรูปแบบเดียวกัน เช่น SET5001C0921A, หรือ PTTE28P1221B ฯลฯ ซึ่งรหัสเหล่านี้แม้ดูยาวและจำยาก แต่มีวิธีสังเกตไม่ยาก นั่นคือ UUUU – II – C/P – YYMM – S ซึ่ง
UUUU | คือ รหัสสินทรัพย์อ้างอิง (underlying) เช่น SET50, PTTE, AOT, ADVA, DJI ฯลฯ |
II | คือ หมายเลขผู้ออกหลักทรัพย์ (issuer) เช่น บัวหลวง รหัส 01, เคจีไอ รหัส 13, แมคควอรี รหัส 28 ฯลฯ |
C/P | คือ ประเภทการใช้สิทธิ ซึ่ง C = Call DW และ P = Put DW |
YYMM | คือ ปีและเดือนที่ DW หมดอายุ หรือ ซื้อขายวันสุดท้าย |
S | คือ รุ่น (Series) ของ DW |
ดังนั้น DW รหัส SET5001C0921A จึงหมายถึง DW ที่อ้างอิงบนดัชนี SET50 ออกโดยหลักทรัพย์บัวหลวง (01) ใช้สิทธิแบบ Call DW ที่มีวันหมดอายุในเดือนกันยายน 2021 (0921) และเป็น DW ซีรีส์ A เป็นต้น
2. มีปัจจัยอะไรส่งผลต่อราคา DW บ้าง
สำหรับนักลงทุนแล้วเพียงลำพังแค่การรู้จักลักษณะของตราสารอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ควรต้องทราบด้วยว่าราคาของตราสารชนิดนี้มีที่มาอย่างไร และมีปัจจัยใดส่งผลต่อราคาบ้าง ซึ่งอย่างแรกเราคงต้องมาดูที่วิธีคำนวณราคา DW กันก่อน
2.1 วิธีคำนวณราคา DW
ราคา DW = มูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) + มูลค่าตามเวลา (Time Value) โดย
● มูลค่าที่แท้จริง ของ Call DW จะคิดได้จาก [ ( ราคาสินค้าอ้างอิง – ราคาใช้สิทธิ ) x อัตราการใช้สิทธิ ] ขณะที่มูลค่าที่แท้จริงของ Put DW จะคิดได้จาก [ ( ราคาใช้สิทธิ – ราคาสินค้าอ้างอิง ) x อัตราการใช้สิทธิ ]
● มูลค่าตามเวลา มีสูตรการคิดซับซ้อน แต่สามารถคิดได้คร่าว ๆ จากราคา DW ที่ซื้อขายในปัจจุบัน – มูลค่าที่แท้จริง ซึ่งมูลค่าตามเวลาจะมีค่ามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เหลือ ยิ่ง DW มีอายุเหลือมาก มูลค่าตามเวลาจะมีค่าสูง ในทางตรงกันข้ามยิ่ง DW ใกล้หมดอายุ ราคาของ DW ก็จะยิ่งต่ำลงเพราะมูลค่าตามเวลาน้อยลงจนไม่เหลือเลยนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น เช่น PTT01C0921A มีราคา DW = 0.65 บาท, ราคาใช้สิทธิ 27 บาท, อัตราการใช้สิทธิ 10:1 (0.1), ราคาหุ้นในปัจจุบันอยู่ที่ 31.5 บาท จะมีมูลค่าที่แท้จริง = [ ( 31.5 – 27 ) x 0.1 ] = 0.45 บาท
ซึ่งหมายความว่าราคาปัจจุบันแพงกว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่ 0.20 บาท และส่วนนี้เองที่เป็นมูลค่าตามเวลาที่นักลงทุนต้องเสียไปหากต้องการถือ DW ตัวนี้ไปจนถึงวันหมดอายุ และราคา PTT ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 31.5 บาทเท่าเดิม
2.2 ราคาของ DW ขึ้นลงได้อย่างไร, มีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อราคาของ DW
จากสูตรการคำนวณที่กล่าวไปแล้ว เราจะพบว่าราคาของ DW ตัวหนึ่ง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยปัจจัยหลัก ๆ 3 อย่างด้วยกัน นั่นคือ
● ราคาสินค้าอ้างอิง
สำหรับปัจจัยนี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคา DW เปลี่ยนแปลง เพราะราคา DW นั้นอ้างอิงโดยตรงกับราคาสินค้าอ้างอิง โดย Call DW จะมีราคาเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกับราคาสินค้าอ้างอิง ขณะที่ Put DW จะเปลี่ยนแปลงในทางตรงกันข้าม
● อายุคงเหลือ
อายุคงเหลือจะมีผลต่อมูลค่าตามเวลา ยิ่ง DW มีอายุคงเหลือมาก DW ก็จะยิ่งมีราคาสูง ขณะที่เมื่อเวลาผ่านไปและอายุคงเหลือของ DW น้อยลง ทั้ง Call DW และ Put DW ก็จะมีราคาต่ำลงเรื่อย ๆ
● ความผันผวน
ปัจจัยนี้จะมีผลต่อราคา DW โดยที่หากความผันผัวนเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ทั้ง Call DW และ Put DW จะมีราคาปรับสูงขึ้น
3. วิธีเลือกเทรด DW? จะเลือก DW ยังไง
หลังจากที่ทำความรู้จักและประเมินปัจจัยที่มีผลต่อราคา DW กันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาดูว่าหากจะลงมือเทรด DW สักตัว เราจะต้องคำนึงถึงปัจจัยใดบ้าง
● อัตราทด (Effective Gearing)
อัตราทด (Effective Gearing) คือค่าที่บอกว่าเมื่อราคาสินค้าอ้างอิงเปลี่ยนไป 1% ราคา DW จะเปลี่ยนไปกี่เปอร์เซนต์ เช่น Effective Gearing 7 เท่า หมายถึงถ้าราคาสินค้าอ้างอิงเปลี่ยนไป 1% Call DW จะบวกขึ้น 7% หรือ Put DW จะลบ 7% ในขณะเดียวกันก็มีผลในทางขาดทุนด้วย การเลือก DW จึงไม่ควรเลือกตัวที่มีอัตราทดสูงอย่างเดียว แต่ควรเลือก DW ที่เหมาะกับความเสี่ยงที่นักเทรดแต่ละคนรับได้ด้วย
● ค่าเสื่อมเวลา (Time Decay)
ค่าเสื่อมเวลา (Time Decay) คือราคา DW ที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยที่ราคาสินค้าอ้างอิงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่ค่าเสื่อมเวลาจะมีการคิดเป็นรายวัน เช่น เวลาผ่านไป 1 วันราคาของ DW จะลดไปเท่าไหร่ ดังนั้นสำหรับการเทรด DW จึงควรเลือก DW ที่มีค่าเสื่อมเวลาน้อย ขณะที่ DW ที่ใกล้วันหมดอายุควรซื้อขายระยะสั้นให้มากที่สุด เนื่องจากมักจะมีค่าเสื่อมเวลาสูง เพียงแค่ถือไว้เฉย ๆ ข้ามวันก็ทำให้ขาดทุนได้มากแล้ว
● ความผันผวนแฝง (Implied Volatility)
ความผันผวนแฝง (Implied Volatility) คือค่าความผันผวนของ DW แต่ละตัว และเป็นค่าที่บอกว่า DW ที่มีสินค้าอ้างอิงตัวเดียวกันตัวไหนจะมีราคาถูกกว่า ซึ่ง DW ตัวที่มีความผันผวนแฝงต่ำกว่าจะมีราคาถูกกว่า จึงควรเลือก DW ที่มีค่าความผันผวนแฝงต่ำ
● ความผันผวนแฝง (Implied Volatility)
สภาพคล่องคือปริมาณซื้อขายที่เกิดขึ้นและเป็นตัวที่ช่วยให้ราคาซื้อขายเปลี่ยนแปลงตามราคาสินค้าอ้างอิงได้ทันที DW ที่มีสภาพคล่องสูงทำให้นักเทรดสามารถซื้อขายได้ง่ายตามปริมาณที่ต้องการโดยที่ราคาจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากราคาที่ควรเป็น
● เทียบราคารับซื้อคืนจากผู้ดูแลสภาพคล่อง
เทียบราคารับซื้อคืนจากผู้ดูแลสภาพคล่องมีอยู่บ้างที่ราคา DW ที่เทรดอยู่ในกระดานไม่เป็นไปตามราคาที่ควรเป็นของผู้ดูแลสภาพคล่อง อาจเพราะปริมาณ DW ถูกดึงออกจากผู้ดูแลสภาพคล่องไปมาก ทำให้ไม่สามารถทำราคาให้เป็นปกติได้ หรือเกิดจากความขัดข้องของระบบ ดังนั้นก่อนที่จะเทรด DW ควรตรวจสอบราคารับซื้อคืนจากผู้ดูแลสภาพคล่องจากทางเว็บไซต์ด้วย
4. โอกาสและความเสี่ยงของ DW
เครื่องมือทางการเงินอย่าง DW เองก็ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ที่มีทั้งจุดเด่นที่จะสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ใช้ และจุดด้อยที่ผู้ใช้ควรระมัดระวัง ดังที่เราจะกล่าวถึงต่อไปนี้
4.1 ทำไม DW ถึงน่าสนใจ
DW เป็นตราสารอนุพันธ์ชนิดหนึ่งที่อ้างอิงราคากับหุ้นในตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทย รวมถึงดัชนีหุ้นต่างประเทศบางแห่ง ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่มีความคล่องตัวสูงจึงสามารถสร้างความได้เปรียบให้กับนักลงทุนรวมถึงนักเทรดได้หลายทาง
● ใช้เงินเริ่มต้นไม่มาก
เนื่องจาก DW เป็นตราสารที่สามารถซื้อขายได้ในกระดานหุ้นที่มีขั้นต่ำในการซื้อขาย 100 หน่วย และด้วยราคา DW ที่มีราคาไม่กี่สตางค์ไปจนถึงไม่กี่บาท ทำให้ DW ใช้เงินขั้นต่ำในการซื้อขายน้อยมาก และนักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ด้วยเงินทุนที่ไม่มาก
● มีอัตราทด
การที่ DW เป็นตราสารอนุพันธ์ชนิดหนึ่งทำให้มีการซื้อขายด้วยอัตราทด ซึ่งมีตั้งแต่ระดับไม่กี่เท่า ไปจนถึงหลัก 20 – 30 เท่า (ขึ้นอยู่กับความผันผวนและเงื่อนไขของ DW แต่ละตัว) และอัตราทดนี้เองที่ทำให้แม้เป็นการลงทุนด้วยเงินไม่มาก แต่ก็เปิดโอกาสให้นักลงทุนสร้างผลกำไรในระดับสูงระดับหลาย ๆ เท่าได้
● ทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง
DW เป็นตราสารอนุพันธ์ที่เปิดโอกาสให้นักเทรดซื้อขายได้ทั้ง Call DW ที่ใช้ทำกำไรในตลาดขาขึ้น และ Put DW ที่ใช้ทำกำไรได้ในตลาดขาลง ทำให้นักเทรดสามารถสร้างผลกำไรได้ในทุกสภาวะการณ์ของตลาด
● มีผลขาดทุนจำกัด
การซื้อขาย DW ไม่มีผลตอบแทนติดลบ ดังนั้นการขาดทุนจึงจำกัดอยู่เพียงแค่เงินทุนที่นำมาซื้อขาย DW เท่านั้น
● นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ได้หลากหลาย
DW เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ปกติแล้วมีสภาพคล่องสูง มีการใช้อัตราทดเข้ามาช่วย ทำให้แม้ราคาสินทรัพย์อ้างอิงเปลี่ยนแปลงไม่มาก ก็สามารถสร้างผลกำไรระยะสั้นให้กับนักเทรดได้ ทำให้เครื่องมือตัวนี้นิยมถูกนำมาใช้เก็งกำไรระยะสั้น ในขณะเดียวกัน DW ก็เป็นหนึ่งในไม่กี่เครื่องมือที่นำมาใช้ทำกำไรในทิศทางราคาขาลงได้ จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับการประกันความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน (Hedging) ได้ด้วยเหมือนกัน
4.2 DW มีความเสี่ยงอะไรบ้าง
สำหรับความเสี่ยงที่นักลงทุนควรต้องคำนึงถึงก่อนการซื้อขาย DW มีดังนี้
● ราคา DW จะผันผวนและเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าราคาหลักทรัพย์อ้างอิง
เนื่องจาก DW เป็นตราสารที่มีการใช้อัตราทด ทำให้แม้ความผันผวนที่สูงนี้จะมีโอกาสสร้างผลกำไรจำนวนมากให้กับนักลงทุน แต่ก็มีโอกาสสร้างผลขาดทุนจำนวนมากได้เช่นกัน
● มีค่าเสื่อมเวลาจากการถือครอง
ค่าเสื่อมเวลาทำให้ราคาของ DW ลดต่ำลงไม่ว่าจะเป็น Call DW และ Put DW แม้ว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็ตาม ทำให้การถือครอง DW เป็นเวลานานนั้นมีต้นทุนที่ต้องแบกรับ นักลงทุนจึงไม่นิยมซื้อ DW เพื่อคาดหวังผลกำไรในระยะยาว
● DW มีอายุจำกัด
นอกจากค่าเสื่อมเวลาแล้ว DW ยังมีวันหมดอายุ ซึ่งหากนักเทรดถือ DW ไปจนครบกำหนดแล้ว DW มีราคาต่ำกว่าราคาใช้สิทธิ (Out of the money) มูลค่าเงินทุนที่นำมาซื้อ DW ก็จะกลายเป็น 0 แม้ว่าก่อนหน้านั้น DW จะยังคงมีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่บ้างก็ตาม ดังนั้นนักลงทุนจึงต้อใช้ความระมัดระวังในการซื้อขาย DW โดยเฉพาะตัวที่มีอายุคงเหลือน้อยใกล้หมดอายุ
● ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของ DW
เนื่องจาก DW แต่ละตัวที่นำออกมาซื้อขายในตลาดจะออกโดยโบรกเกอร์ผู้ดูแลและมีปริมาณจำกัด ในภาวะที่ตลาดไม่ปกติปริมาณ DW อาจถูกถือครองโดยนักลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมากจนทำให้ผู้ดูแลสภาพคล่องไม่สามารถทำราคาให้เป็นไปตามมูลค่าของ DW ดังนั้นเมื่อสภาพคล่องของ DW เหลือน้อยก็มีความเสี่ยงที่ผู้ซื้อขายจะได้ราคาที่บิดเบือนไปจากที่ควรจะเป็นได้
5. DW vs CFD มีความคล้ายคลึงและความแตกต่างอย่างไร
กล่าวถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจเริ่มคิดถึงเครื่องมือทางการเงินอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า CFD หรือ Contract for Difference และสงสัยว่าสองตัวนี้เป็นผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันหรือเปล่า ซึ่งคำตอบคือไม่ใช่ แม้ DW และ CFD จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความต่างกันในหลายส่วน ดังนั้นเราลองมาดูกันก่อนว่าทั้ง DW และ CFD นั้นมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และแบบไหนจึงจะเหมาะกับการเทรดของเรามากที่สุด
5.1 ความเหมือนของ DW vs CFD
เนื่องจากทั้ง DW และ CFD เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของอนุพันธ์ทางการเงิน ทำให้เครื่องมือทางการเงินทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันในด้าน
● เป็นตราสารที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาของสินค้าอ้างอิง
นั่นหมายความว่าการซื้อ DW และ CFD นักลงทุนจะไม่ได้สิทธิต่าง ๆ เหมือนผู้ถือหุ้น แต่ก็ยังสามารถทำกำไรจากความผันผวนของราคาหุ้นที่อ้างอิงได้
● ใช้อัตราทด (Effective Gearing/ Leverage)
เพื่อขยายขอบเขตในการทำกำไร
● มีสภาพคล่องสูง
มีผู้ดูแลราคา (Market Maker) ทำให้ปกติแล้วทั้ง DW และ CFD เป็นตราสารที่มีสภาพคล่องสูง เหมาะสำหรับการเก็งกำไร
● ใช้เงินทุนเริ่มต้นในการซื้อขายไม่มาก
ด้วยราคาต่อหน่วยที่ไม่สูง
ทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง หากต้องการทำกำไรในแนวโน้มราคาขาขึ้นให้เซื้อ Call DW หรือเปิดสถานะ Long CFD ในทางตรงกันข้ามหากมองว่าแนวโน้มราคาเป็นขาลงให้ซื้อ Put DW หรือเปิดสถานะ Short CFD
นำไปใช้ได้ทั้งเพื่อการเก็งกำไรและบริหารความเสี่ยง (hedging) ของพอร์ตการลงทุน
5.2 ความต่างของ DW vs CFD
ในความเหมือนระหว่าง DW และ CFD เครื่องมือทั้งสองก็ยังคงมีความแตกต่างกันอยู่หลายส่วน
● DW เป็นสิทธิในการซื้อ/ขายหุ้นแม่ได้ตามราคาใช้สิทธิภายในเวลาจำกัดในอนาคต โดยราคาจะเคลื่อนไหวตามอัตราส่วนที่อ้างอิงกับสินค้าอ้างอิง
● CFD เป็นสัญญาส่วนต่างราคา ที่สามารถทำกำไรได้จากส่วนต่างของราคาที่เปิดสถานะ – ราคาที่ปิดสถานะได้ทันทีเมื่อราคาอยู่ที่ระดับที่พอใจ
ดังนั้น เครื่องมือทั้งสองยังคงมีความแตกต่างกันในด้าน
● การคำนวณราคาและผลกำไร
แม้ทั้ง DW และ CFD จะเป็นอนุพันธ์ที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาสินทรัพย์อ้างอิง แต่ราคา DW จะมีการบวกเพิ่มด้วยมูลค่าตามเวลา ทำให้ราคาไม่คงที่ตามระยะเวลาที่ผ่านไป ตรงกันข้าม CFD จะมีการคำนวณราคาและผลกำไรแบบอิงไปกับราคาสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรง แต่หากมีการถือสถานะข้ามวันจะมีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม
● อายุ
โดยปกติ DW จะมีอายุประมาณ 4-6 เดือน และเมื่อเวลาผ่านไปอายุคงเหลือของ DW ก็จะลดลงเรื่อยๆ และนักลงทุนควรขายคืน DW ก่อนวันซื้อขายวันสุดท้าย ขณะที่ CFD ไม่มีวันหมดอายุของการเปิดสถานะ ซึ่งนักลงทุนสามารถถือสถานะไปได้เรื่อย ๆ เพียงแต่จะถูกหักค่าสวอปเพิ่ม
● ค่าเสื่อมเวลา
การถือ DW ข้ามวันจะมีค่าเสื่อมเวลา แม้ราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพียงแค่เวลาผ่านไปราคาของ DW ก็สามารถลดลงได้เองแล้ว ขณะที่ CFD จะไม่มี
● ประเภทของสินทรัพย์ที่ใช้อ้างอิง
DW จะอ้างอิงจากหลักทรัพย์, ดัชนีหลักทรัพย์ของไทย และดัชนี HIS/DJI ของต่างประเทศ แต่ CFD จะอ้างอิงจากหลักทรัพย์และดัชนีหุ้นต่างประเทศล้วน ๆ เช่นหุ้น Google, Facebook, HSI, S&P 500, NASDAQ 100
● บัญชีที่ใช้เทรด
บัญชีหลักทรัพย์ที่ใช้ในการซื้อขาย DW ยังสามารถเทรดหุ้นไทยได้ แต่บัญชี CFD สามรถซื้อขายสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทั้งหุ้นต่างประเทศ ดัชนี forex สินค้าโภคภัณฑ์และสกุลเงินดิจิตอลได้
5.3 ฉันจะเหมาะกับการเทรดแบบไหน
เมื่อทั้ง DW และ CFD ต่างก็มีความเหมือนและแตกต่างกัน เรามาดูกันดีกว่าว่าเครื่องมือไหนจะเหมาะกับสไตล์การเทรดแบบใดบ้าง
● หากสนใจเทรดหุ้นไทยหรือดัชนีไทย และสนใจเทรดระยะสั้นระดับในวันไปจนถึงระดับสัปดาห์ การเลือก DW เป็นเครื่องมือเทรดก็จะเป็นทางที่น่าสนใจ
● หากสนในเทรดหุ้น ดัชนีต่างประเทศ หรือต้องการมีทางเลือกของสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งเพื่อการเก็งกำไร รวมทั้งการใช้เป็นทางเลือกในการกระจายพอร์ตการลงทุน การเลือก CFD ก็จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
● หากสนใจเทรดในช่วงเวลาที่สั้นมาก เช่น การเทรดในระดับนาที ชั่วโมง หรือรายวัน นักเทรดจำเป็นต้องเลือกสินทรัพย์ที่มีความผันผวนเพียงพอให้หาจังหวะเข้าเก็งกำไรได้ ซึ่งปกติแล้วตลาดหุ้นไทยจะไม่มีความผันผวนเพียงพอให้เทรดวันละหลาย ๆ รอบ แต่สินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง เช่น สกุลเงิน สินค้าโภคภัณฑ์ สามารถทำได้ ในกรณีนี้การเลือก CFD จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

6.คำถามที่พบบ่อย
คำถามพบบ่อยสำหรับการเทรด DW เช่น
6.1 DW, Warrant และ Option ต่างกันอย่างไร
ทั้ง DW, Options และ Warrant มีความคล้ายกันในฐานะที่เป็นตราสารทางการเงินที่ให้สิทธิบางอย่างแก่ผู้ถือ แต่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป … หลักๆ พวกนี้จะมีกลไก Leverage ทำให้เป็นเสน่ห์ของสินค้าเหล่านี้ … แต่จะมีรายละเอียดย่อยๆ แตกต่างกันออกไป
● Warrant
เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน โดยที่กำหนดวันใช้สิทธิและราคาใช้สิทธิไว้เพื่อให้ผู้ถือสามารถแปลง Warrant เป็นหุ้นแม่ได้ ดังนั้นราคา Warrant จะอ้างอิงกับราคาหุ้นแม่โดยตรง โดยมีราคาที่ควรจะเป็นเท่ากับราคาหุ้นแม่ - ราคาใช้สิทธิxอัตราการใช้สิทธิ โดยที่จะมีการซื้อขายในตลาดหุ้นได้เหมือนหุ้นทั่วไปโดยที่ไม่มีอัตราทด
● Option
เป็นตราสารทางการเงินที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคากันโดยตรงในตลาด เป็นการให้สิทธิในการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตตามราคาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งผู้ซื้อออปชั่นจะมีสิทธิในการเลือกว่าจะซื้อหรือไม่ก็ได้ ซึ่งผลตอบแทนของผู้ขายออปชั่นจะเป็นค่าพรีเมี่ยม ส่วนผลตอบแทนของผู้ซื้อออปชั่นจะเป็นส่วนต่างราคาซื้อขายสินทรัพย์ในอนาคต
● Derivative Warrant (DW)
เป็นตราสารอนุพันธ์ที่มีราคาเปลี่ยนแปลงตามราคาสินทรัพย์อ้างอิง โดยมีการนำอัตราทดมาใช้ จึงค่อนข้างเหมาะสำหรับการเก็งกำไรในระยะสั้นในราคาหุ้นขนาดใหญ่และดัชนี SET50
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั้งสามยังมีความแตกต่างในการซื้อขาย กล่าวคือ Warrant และ DW จะมีการเทรดบนกระดานหุ้น (SET) ส่วน Option จะเทรดบนกระดาน TFEX
6.2 วันซื้อขายวันสุดท้าย ต่างจาก วันครบกำหนดอายุอย่างไร
วันซื้อขายวันสุดท้าย คือ วันที่สามารถทำการซื้อขาย DW ได้ เป็นวันสุดท้าย
วันครบกำหนดอายุ คือ วันที่ทำการใช้สิทธิของ DW โดยจะเป็นการใช้สิทธิแบบอัตโนมัติ ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับเงินสดส่วนต่างหากมีผลกำไร และต้องนำผลกำไรนี้ไปคำนวณรวมกับภาษีเงินได้ของแต่ละปีด้วย
6.3 ศัพท์ที่ควรรู้สำหรับการเทรด DW
Underlying (สินทรัพย์อ้างอิง) : สินค้าที่ DW ใช้อ้างอิงราคา สังเกตได้จากอักษร 4 ตัวแรกของชื่อ DW
Strike หรือ Exercise Price (ราคาใช้สิทธิ) : ราคาสินทรัพย์อ้างอิงที่กำหนดไว้ให้ผู้ถือ DW สามารถซื้อหรือขายได้ ณ วันใช้สิทธิ
Conversion Ratio (อัตราการใช้สิทธิ) : อัตราส่วน DW ที่นำมาแปลงเป็นสิทธิในการซื้อขายหลักทรัพย์อ้างอิง ณ วันใช้สิทธิ
Days to last trading (วันซื้อขายวันสุดท้าย) : วันสุดท้ายที่นักลงทุนสามารถซื้อขาย DW ตัวนั้นได้
Sensitivity : ค่าประมาณการเปลี่ยนแปลงราคาของ DW 1 ช่วงราคาว่าจะทำให้สินทรัพย์อ้างอิงจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่
Time Decay (ค่าเสื่อมเวลา) : ราคาของ DW ที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป 1 วัน โดยที่ราคาสินทรัพย์อ้างอิงยังคงเดิม
ATM (At-the-Money) : สถานะของ DW เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิง = ราคาใช้สิทธิ
ITM (In-the-Money) : สถานะของ Call DW เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิง > ราคาใช้สิทธิ, สถานะของ Put DW เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิง < ราคาใช้สิทธิ (ใช้สิทธิแล้วมีกำไร)
OTM (Out-of-the-Money) : สถานะของ Call DW เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิง < ราคาใช้สิทธิ, สถานะของ Put DW เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิง > ราคาใช้สิทธิ (ใช้สิทธิไม่ได้)
Implied Volatility (ความผันผวนแฝง) : คือค่าความผันผวนของ DW แต่ละตัวที่ได้รับต่อมาจากความผันผวนของราคาสินค้าอ้างอิง
Delta (เดลต้า) : ขนาดการเปลี่ยนแปลงของราคา DW เทียบกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอ้างอิง (%)
Effective Gearing (อัตราทดแท้จริง) : อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคา DW เมื่อเทียบกับสินค้าอ้างอิง (เท่า)
Last Trading Date (วันซื้อขายวันสุดท้าย) : วันสุดท้ายที่สามารถซื้อขาย DW ตัวนั้น ๆ ได้
Expire Date (Maturity Date) (วันครบกำหนดอายุ) : วันที่ทำการใช้สิทธิของ DW แบบ
Outstanding (จำนวนถือครอง) : จำนวน DW ที่ถูกถือครองโดยนักลงทุน
Historical Volatility (H.V.) (ความผันผวนในอดีต) : คือความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิงในอดีต สามารถนำมาใช้ประกอบการประเมินความผันผวนของสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตได้
ถึงตรงนี้เราก็ได้มาทำความรู้จักเครื่องมือที่ได้รับความนิยมและมีประโยชน์หลากหลายอย่าง DW หรือ Derivative Warrant กันไปแล้วว่า DW คืออะไร มีข้อได้เปรียบและข้อควรระวังอย่างไร รวมถึงการจะเลือก DW สำหรับการเทรดควรคำนึงถึงปัจจัยใดบ้าง ซึ่งนับว่าเป็นความครบจบในสาระทั้งหมดที่ควรรู้ หลังจากนี้ก็ถึงเวลาลองเริ่มลงมือเทรดได้เลย
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน